การออกแบบโครงสร้างของเว็บไซต์ สามารถทำได้หลายรูปแบบ ขึ้นอยู่กับลักษณะของข้อมูล ความถนัดของผู้ออกแบบ รวมถึงกลุ่มของเป้าหมายที่ต้องการนำเสนอ โครงสร้างของเว็บไซต์ประกอบ แบ่งเป็น 4 รูปแบบหลักๆ ดังนี้
1. โครงสร้างของเว็บไซต์แบบเรียงตามลำดับ (Sequential Structure)
เป็นโครงสร้างแบบธรรมดาทั่วไปที่ใช้กันมากที่สุด เนื่องจากง่ายต่อการจัดระบบ ข้อมูล ข้อมูลที่นิยม จัดด้วยโครงสร้างแบบนี้มักเป็นข้อมูลที่มีลักษณะเป็นเรื่องราว ตามลำดับ เช่น การเรียงลำดับตามตัวอักษร ดรรชนี สารานุกรม หรืออภิธานศัพท์ โครงสร้างแบบนี้ เหมาะกับเว็บไซต์ที่มีขนาดเล็ก เนื้อหาไม่ซับซ้อน ใช้การลิงค์ (Link) ไปทีละหน้า โดยทิศทางของการเข้าสู่เนื้อหา (Navigation) ภายในเว็บจะเป็นการดำเนินเรื่องในลักษณะเส้นตรง โดยมี ปุ่มเดินหน้า-ถอยหลัง เป็นเครื่องมือหลักในการกำหนดทิศทาง ข้อเสียของการออกแบบโครงสร้างแบบเรียงตามลำดับคือ ผู้ใช้ไม่สามารถกำหนดทิศทางการเข้าสู่เนื้อหาของตนเองได้ทำให้เสียเวลา ในการเข้าสู่เนื้อหา
รูปแสดงตัวอย่าง รูปแบบโครงสร้างเว็บไซต์แบบเรียงตามลำดับ |
2. โครงสร้างของเว็บไซต์แบบลำดับขั้น (Hierarchical Structure)
เป็นโครงสร้างที่ดีที่สุดวิธีหนึ่งในการจัดระบบโครงสร้างที่มีความซับซ้อน ของข้อมูล โดยแบ่งเนื้อหา ออกเป็นส่วนต่างๆ และมีรายละเอียดย่อย ๆ ในแต่ละส่วนลดหลั่นกันมาในลักษณะแนวคิดเดียวกับ แผนภูมิองค์กร จึงเป็นการง่ายต่อการทำความเข้าใจกับโครงสร้างของเนื้อหา ลักษณะเด่นคือการมีจุดเริ่มต้นที่จุดร่วมจุดเดียว นั่นคือ โฮมเพจ (Homepage) และเชื่อมโยงไปสู่เนื้อหาในลักษณะเป็นลำดับจากบนลงล่าง
รูปแสดงตัวอย่าง รูปแบบโครงสร้างของเว็บไซต์แบบลำดับขั้น |
3. โครงสร้างของเว็บไซต์แบบตาราง (Grid Structure)
โครงสร้างรูปแบบนี้มีความซับซ้อนมากกว่ารูปแบบที่ผ่านมา การออกแบบเพิ่มความยืดหยุ่นให้แก่การเข้าสู่เนื้อหาของผู้ใช้ โดยเพิ่มการเชื่อมโยง ซึ่งกันและกันระหว่างเนื้อหาแต่ละส่วน เหมาะแก่การแสดงให้เห็นความสัมพันธ์กันของเนื้อหาภายใน การเข้าสู่เนื้อหาของผู้ใช้จะไม่เป็นลักษณะเชิงเส้นตรง เนื่องจากผู้ใช้สามารถเปลี่ยนทิศทางการเข้าสู่เนื้อหาของตนเองได้ เช่น ในการเก็บรวบรวมข้อมูลของจังหวัดในประเทศไทย โดยในแต่ละจังหวัด สามารถแบ่งเป็นหัวข้อย่อยเหมือนกันคือ การปกครอง แหล่งท่องเที่ยว วัฒนธรรม และสินค้าที่โด่งดังของแต่ละจังหวัด ในขณะที่ผู้ใช้กำลังศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับแหล่งท่องเที่ยวของเชียงใหม่ ผู้ใช้อาจศึกษาหัวข้อสินค้าที่โด่งดังเป็นหัวข้อต่อไปก็ได้ หรือจะข้ามไปดูหัวข้อแหล่งท่องเที่ยวของจังหวัดอื่นก่อนก็ได้เพื่อ
รูปแสดงตัวอย่าง โครงสร้างของเว็บไซต์แบบตาราง |
4. โครงสร้างเว็บไซต์แบบใยแมงมุม (Web Structure)
โครงสร้างการออกแบบเว็บไซต์ประเภทนี้จะมีความยืดหยุ่นมากที่สุด โดยทุกหน้าภายในเว็บไซต์สามารถจะเชื่อมโยงไปถึงกันได้หมด เป็นการสร้างรูปแบบการเข้าสู่เนื้อหาที่เป็นอิสระ ทำให้ผู้ใช้สามารถกำหนดวิธีการเข้าสู่เนื้อหาได้ด้วยตนเอง การเชื่อมโยงเนื้อหาแต่ละหน้าอาศัยการโยงข้อความที่มีความเกี่ยวข้องของเนื้อหาเหมือนกัน ของแต่ละหน้าในลักษณะของ Hyper Text หรือ Hyper Media โครงสร้างลักษณะนี้จัดเป็นรูปแบบที่ ไม่มีโครงสร้างที่แน่นอนตายตัว (Unstructured) นอกจากนี้การเชื่อมโยงไม่ได้จำกัดเฉพาะเนื้อหาภายในเว็บไซต์นั้นๆ แต่สามารถเชื่อมโยงออกไปสู่เนื้อหาจากเว็บไซต์ภายนอกได้
รูปแสดงตัวอย่าง โครงสร้างเว็บไซต์แบบใยแมงมุม |
ในการออกแบบโครงสร้างของเว็บไซต์ให้ดี จะช่วยทำให้เว็บไซต์ของเราดูน่าสนใจ ง่ายต่อการเยี่ยมชมของผู้ใช้ และยังมีผลต่อการมาเก็บขอมูล และการจัดอันดับของ Search Engine อีกด้วยด้วย